หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov 39


การถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (อนุสัญญาฯ) และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ต่อองค์การสหประชาชาติต่อไปตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ

          สาระสำคัญของเรื่อง

          พม. รายงานว่า

          1. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เป็นหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวข้องกับเด็กในด้านต่างๆ 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม มีหลักการสำคัญ คือ หลักการไม่เลือกปฏิบัติและหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก โดยสาระสำคัญของอนุสัญญาฯ ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 (ข้อ 1-41) หลักการและเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิต่างๆ ที่เด็กพึงได้รับ เช่น สิทธิและเสรีภาพของเด็กโดยทั่วไป การคุ้มครองร่างกาย ชีวิต เสรีภาพ และสวัสดิภาพของเด็ก ส่วนที่ 2 (ข้อ 42-45) หลักเกณฑ์และแบบพิธีซึ่งประเทศที่ให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาฯ ต้องปฏิบัติตาม และส่วนที่ 3 (ข้อ 46-54) กลไกของอนุสัญญาฯ ซึ่งกำหนดวิธีการติดตามดูแลการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ และการมีผลบังคับใช้ของอนุสัญญาฯ ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ จำนวน 197 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567)

          2. ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535และมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2535 โดยขณะนั้นได้ตั้งข้อสงวนไว้ จำนวน 3 ข้อ ได้แก่ (1) ข้อ 7 ว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิด สถานะบุคคลและสัญชาติ (2) ข้อ 22 ว่าด้วยเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง และ (3) ข้อ 29 ว่าด้วยการจัดการศึกษา ต่อมาภายหลังการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการจัดการศึกษาและสถานะบุคคล ประเทศไทยได้ถอนข้อสงวน ข้อ 29 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (12 พฤศจิกายน 2539)] เนื่องด้วยการศึกษาของประเทศไทยมีความหลากหลายและมีการจัดการศึกษาให้แก่ทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และข้อ 7 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (21 กันยายน 2553)] เนื่องด้วยประเทศไทยได้มีนโยบายและการดำเนินงานเพื่อประกันให้มีการปฏิบัติตามสิทธิขั้นพื้นฐานแก่เด็กทุกคนในประเทศไทย ทั้งในด้านกฎหมาย (เช่น การจดทะเบียนการเกิดและการได้สัญชาติ) ด้านการศึกษาและด้านสุขภาพอนามัย (เช่น การจัดการศึกษาและบริการด้านสุขภาพอนามัยแก่บุคคลที่ขาดหลักฐานทะเบียนราษฎร) โดยยังคงเหลือข้อสงวนอีก 1 ข้อ คือ ข้อ 22 ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศสุดท้ายของรัฐภาคีที่ยังคงตั้งข้อสงวนข้อนี้ไว้

          3. จากการที่ประเทศไทยได้นำเสนอรายงานผลการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 3-4 ต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ1 เมื่อปี 2555 ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยถอนข้อสงวน ข้อ 22 และรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไกการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาลภายใต้สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Universal Periodic Review: UPR)2 ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รอบที่ 1 เมื่อปี 2554 ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยพิจารณาถอนข้อสงวนภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยประเทศไทยรับข้อเสนอแนะดังกล่าวต่อที่ประชุม และในการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก UPR รอบที่ 2 เมื่อปี 2559 ประเทศฝรั่งเศสเสนอแนะให้ประเทศไทยถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ

          4. รายละเอียดข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ประกอบด้วย 2 วรรค ดังนี้

              4.1 วรรคแรก “รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมที่จะประกันว่าเด็กที่ร้องขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัย หรือที่ได้รับการพิจารณาเป็นผู้ลี้ภัยตามกฎหมายหรือกระบวนการภายในหรือระหว่างประเทศที่ใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีบิดา มารดาของเด็กหรือบุคคลอื่นติดตามมาด้วยหรือไม่ก็ตาม จะได้รับการคุ้มครองและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่เหมาะสมในการได้รับสิทธิที่มีอยู่ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญานี้ และในตราสารระหว่างประเทศอื่นๆ อันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหรือมนุษยธรรมซึ่งรัฐดังกล่าวเป็นภาคี”

              โดยข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ไม่ได้กำหนดหรือให้คำจำกัดความของผู้ลี้ภัย แต่ให้อ้างอิงตามหลักกฎหมายหรือกระบวนการภายในหรือระหว่างประเทศใช้บังคับโดยให้แต่ละประเทศสามารถกำหนดคำนิยามของเด็กภายในกรอบกฎหมายของประเทศนั้นๆ และไม่ได้กำหนดความหมายของคำว่า มาตรการที่เหมาะสม แต่ได้กำหนดให้แต่ละประเทศใช้ดุลนิจในการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมรวมถึงกำหนดให้ประเทศภาคีให้ความร่วมมือในการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็ก โดยไม่ได้กำหนดมาตรการที่เหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ

              4.2 วรรคสอง “เพื่อวัตถุประสงค์นี้ รัฐภาคีจะให้ความร่วมมือตามที่พิจารณาว่าเหมาะสมแก่ความพยายามใดๆ ของทั้งองค์การสหประชาชาติ และองค์การระดับรัฐบาล หรือองค์การที่มิใช่ระดับรัฐบาลอื่นที่มีอำนาจ ซึ่งร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติในการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กเช่นว่า และในการติดตามหาบิดา มารดา หรือสมาชิกอื่นของครอบครัวของเด็กผู้ลี้ภัย เพื่อให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นสำหรับการกลับไปอยู่ร่วมกันใหม่เป็นครอบครัวของเด็ก ในกรณีที่ไม่สามารถค้นพบบิดา มารดา หรือสมาชิกอื่นๆ ของครอบครัวเด็กนั้นจะได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับเด็กที่ถูกพรากจากสภาพครอบครัว ทั้งที่เป็นการถาวรหรือชั่วคราว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ดังเช่นที่ได้ระบุไว้ในอนุสัญญาฯ นี้”

              โดยข้อ 22 กำหนดให้ประเทศภาคีให้ความร่วมมือในการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กร่วมกับองค์การสหประชาชาติและองค์การระดับรัฐบาล หรือองค์การที่ไม่ใช่ระดับรัฐบาลอื่นที่มีอำนาจตามความเหมาะสม โดยไม่ได้กำหนดมาตรการที่เหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ ดังนั้น กลไกหรือมาตรการที่ประเทศดำเนินการอยู่ก่อน จึงถือเป็นมาตรการที่เหมาะสม

          5. สาเหตุของการตั้งข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ

          ในช่วงที่ประเทศไทยพิจารณาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ปี 2531-2535 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป พยายามชักนำรัฐภาคีของอนุสัญญาฯ ให้เข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 ทำให้เกิดความเข้าใจว่าหากไม่มีข้อสงวน ข้อ 22 จะทำให้ประเทศไทยมีข้อผูกพันในการจัดหาที่พักพิงและการดูแลผู้ลี้ภัยในการตั้งถิ่นฐานถาวรที่ไม่เป็นไปตามการดำเนินการตามกรอบกฎหมายภายในประเทศที่มีอยู่ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรมได้ จึงเป็นเหตุผลให้ประเทศไทยยังคงตั้งข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ไว้

          6. พม. ได้จัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์ความพร้อมของประเทศไทยต่อการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

              6.1 คำนิยามและขอบเขตของกลุ่มเป้าหมายภายใต้อนุสัญญาฯ ไม่ได้มีการจำกัดความไว้ชัดเจน ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้รัฐภาคีสามารถนิยามคำว่า “เด็กลี้ภัย” และสามารถกำหนดขอบเขตของกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมตามกฎหมายและมาตรการที่ใช้อยู่ภายในประเทศได้ โดยเมื่อปี 2564 ประเทศไทย (กรมกิจการเด็กและเยาวชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) ได้มีการกำหนดนิยามคำว่า “เด็กลี้ภัย”3 “ตามข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ คือ “เด็กที่ได้รับการรับรองสิทธิตามข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ” และมีคำจำกัดความ คือ “บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยอายุไม่ถึง 18 ปี เว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะก่อนหน้านั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่เด็กนั้นที่เข้ามาหรือพำนักอยู่ในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนา โดยมีเหตุอันจะเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหาร”

              6.2 สถานการณ์เกี่ยวกับเด็กที่ได้รับสิทธิตามข้อ 22 ในประเทศไทย ประเทศไทยให้การช่วยเหลือบุคคลที่หลบหนีจากการประหัตประหารบนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรมมากว่า 70 ปี ซึ่งมีจำนวนกว่าล้านคนเคยพักพิงอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวก่อนเดินทางกลับประเทศต้นทางหรือไปสู่ประเทศที่สาม โดยมีการจำแนกเด็กเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

                   (1) กลุ่มเด็กผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา จากเหตุการณ์ความรุนแรงในเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองและชาติพันธุ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในเมียนมาตั้งแต่ปี 2531 ชาวเมียนมาได้หนีภัยการสู้รบเข้ามาแสวงหาที่พักพิงในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นประชากรเด็กจำนวนประมาณ 32,000 คน คิดเป็นร้อยละ 41 ของประชากรผู้หนีภัยการสู้รบทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยได้มีการให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่พักพิงชั่วคราว จำนวน 9 แห่ง ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี ซึ่งมีการให้บริการขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา การฝึกอาชีพ การบริการสุขภาพ รวมถึงพัฒนากลไกคัดกรองผู้หนีภัยการสู้รบ

                   (2) กลุ่มเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงในเขตเมือง ประชากรกลุ่มนี้มีความหลากหลายและเพิ่มมากขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดใหญ่ในประเทศไทย เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ตาก โดยมีทั้งกลุ่มผู้ลี้ภัยที่เดินทางเข้าประเทศไทยมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายและพำนักต่อในประเทศภายหลังเอกสารตรวจลงตราหมดอายุ และกลุ่มที่เดินทางเข้าประเทศไทยผิดกฎหมายโดยผ่านเส้นทางธรรมชาติ ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้ประมาณการว่า มีประชากรเด็กจำนวน 1,800 คน คิดเป็นร้อยละ 35 ของประชากรผู้ลี้ภัยในเขตเมืองทั้งหมด ซึ่งมาตรการช่วยเหลือที่ผ่านมาผู้ลี้ภัยในเขตเมืองจำนวนหนึ่งได้รับการคัดกรองเป็นบุคคลในความห่วงใยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติและองค์การพัฒนาเอกชนให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนอกจากนี้ ในด้านการศึกษา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองสิทธิในการจัดการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี ให้เด็กทุกคนในประเทศไทย ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงด้วย

              6.3 ความพร้อมของประเทศไทยในการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ประเทศไทยมีความพร้อมต่อการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการที่ประเทศไทยได้ตีความข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ให้เป็นไปภายใต้กรอบการดำเนินการรองรับการคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยที่ประเทศไทยดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งด้านกลไก มาตรการ กฎหมาย พันธกรณี กติกา และตราสารระหว่างประเทศที่ประเทศไทยรองรับ (เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งมีข้อบทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเด็กลี้ภัยอยู่ด้วย) ส่งผลให้การดำเนินการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของประเทศไทยเป็นมาตรการที่เหมาะสมตามอนุสัญญาฯ ข้อ 22 เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งให้ความคุ้มครองเด็กทุกคนอย่างครอบคลุมและไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะยังมีข้อห่วงใยเกี่ยวกับการถอนข้อสงวน ข้อ 22 บางประการ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลระบุตัวตนเด็ก การกำหนดบริการด้านสาธารณสุขที่ชัดเจนในประเด็นการเข้าถึงบริการ ระบบคัดกรอง แนวทางการส่งต่อบริการ รวมถึงการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีในการปฏิบัติของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง แต่ประเทศไทยได้ดำเนินการขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนบริการสำหรับเด็กที่ได้การรับรองสิทธิตามข้อ 22 โดยจะได้มีการตอบสนองต่อข้อห่วงใยในประเด็นต่างๆ เพื่อยกระดับการดูแลเด็กทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้พัฒนาระบบการดูแลเด็กในอนาคต

              6.4 แผนปฏิบัติการการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ4 ได้จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการ ตัวชี้วัดหลัก และกรอบระยะเวลาอย่างเป็นขั้นตอนในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิเด็กที่ได้รับการรับรองสิทธิตามข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ เพื่อยกระดับการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สรุปได้ ดังนี้

 

ประเด็น

กรอบระยะเวลา

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก

การสำรวจกรอบกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่ได้รับการรับรองสิทธิตามข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ และการดำเนินการที่เหมาะสมตามที่หน่วยงานดำเนินการอยู่แล้วรวมถึงการกำหนดแนวทางการพัฒนากรอบกฎหมาย นโยบาย การดำเนินการภายหลังการถอนข้อสงวนเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

3-6 เดือน

- พม.

- กระทรวงมหาดไทย (มท.)

- กระทรวงยุติธรรม (ยธ.)

- กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

- กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.)

- สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.)

การจัดประชุมส่วนราชการเพื่อกำหนดโครงสร้างและกลไกการประสานงานเพื่อรองรับการดำเนินการคุ้มครองสิทธิสำหรับเด็กที่ได้รับการรับรองตามอนุสัญญาฯ และพัฒนาแนวทางการดำเนินการของโครงสร้างและกลไกการประสานงานสำหรับเด็กที่ได้รับการรับรองสิทธิตามอนุสัญญาฯ ภายหลังการถอนข้อสงวน

3-6 เดือน

พม.

การจัดประชุมส่วนราชการเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบข้อมูลและทะเบียนประวัติการให้บริการ การจัดสรรงบประมาณและการส่งเสริมทัศนคติของบุคลากรในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิเด็กที่ได้รับการรับรองสิทธิตามอนุสัญญาฯ

3-6 เดือน

- พม.

- มท.

- ยธ.

- ศธ.

- สธ.

การนำเสนอข้อมูลความพร้อมของประเทศไทยต่อการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ต่อคณะรัฐมนตรี การจัดทำตราสารเพื่อถอนข้อสงวน และการจัดส่งตราสารเพื่อเสนอต่อองค์การสหประชาชาติ

6 เดือน-1 ปี

- กต.

- พม.

 

          ทั้งนี้ จากผลการศึกษาข้างต้นพบว่า การถอนข้อสงวน ข้อ 22 ไม่ได้ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 แต่ประการใดและไม่ได้ส่งผลให้ประเทศไทยต้องดำเนินการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโดยวิธีหรือการดำเนินการอื่นใด ซึ่งขัดต่อกรอบกฎหมายที่มีในประเทศ โดยการดำเนินมาตรการการช่วยเหลือเด็กผู้ลี้ภัยจะเป็นไปตามหลักการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม และไม่ได้ส่งผลให้ประเทศไทยต้องผูกมัดการดำเนินงานตามแนวทางหรือกฎหมายในการให้ความช่วยเหลือเด็กผู้ลี้ภัยใดๆ ที่นอกเหนือจากกรอบกฎหมายที่มีอยู่ในประเทศ เห็นได้จากที่ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติเกือบทั้งหมดได้เข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในขณะที่จำนวนรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยนั้นไม่ได้มีการรับรองจากประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติเพื่อเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีในทุกประเทศ เช่น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียหรือประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ก็ไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951

          7. ประโยชน์จากการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ

              7.1 เด็กทุกคนจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างปราศจากการเลือกปฏิบัติยึดประโยชน์ของเด็กเป็นลำดับแรก พร้อมทั้งได้รับความคุ้มครองและดูแลช่วยเหลือเท่าที่จะเป็นไปได้

              7.2 หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศด้านเด็กในประเทศไทย สามารถดำเนินงานในด้านของเด็กในบริบทการโยกย้ายถิ่นฐานได้อย่างครอบคลุม

              7.3 เป็นการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยและเด็กในบริบทการโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งสอดคล้องกับคำมั่นที่ประเทศไทยได้ให้ไว้ในเวทีระหว่างประเทศและเป็นการพัฒนาภาพลักษณ์ที่ดีและมุมมองด้านบวกของประเทศไทย รวมถึงลดการแทรกแซงหรือการตั้งคำถามโดยไม่จำเป็นในประเด็นสิทธิมนุษยชน

          8. คณะกรรมการส่งเสริมเด็กและเยาวชนแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เห็นชอบการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ และมอบหมายให้ พม. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

          9. ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มาเพื่อสนับสนุนเรื่องการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ มาจากงบประมาณแผ่นดิน หมวดงบดำเนินงาน งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ตามที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงบประมาณ (สงป.)

_______________________________________

1บทบัญญัติข้อ 44 ของอนุสัญญาฯ กำหนดให้รัฐภาคีจัดทำรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติภายใน 2 ปี นับจากวันที่อนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับ และทุกๆ 5 ปี หลังจากนั้น

2เป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศในด้านต่างๆ เช่น ด้านสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงสิทธิของบุคคลภายในประเทศ เพื่อเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีข้อยกเว้น ทั้งนี้ จะมีการรายงานฯ ทุกๆ 4 ปีครึ่ง

3กรมกิจการเด็กและเยาวชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การร่วมกำหนดนิยามความหมาย “เด็กลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง” เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 โดยที่ประชุมได้มีมติร่วมกันในคำนิยามดังกล่าว

4จากการประสาน พม. แจ้งว่า ได้มีการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ไปแล้วตามขั้นตอน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการตามกระบวนการภายในประเทศคือการนำเสนอข้อมูลความพร้อมของประเทศไทยต่อการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 กรกฎาคม 2567

 

 

7287

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!