หมวดหมู่: พาณิชย์

กทูตญี่ปุ่น


ภูมิธรรม ถกทูตญี่ปุ่น ขอเพิ่มนำเข้ากล้วยหอม ลดภาษีน้ำตาล ดึงลงทุน EEC

ภูมิธรรม หารือเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ย้ำร่วมมือเศรษฐกิจ การค้า ลงทุน และยกระดับการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ไทยสบช่องขอเพิ่มนำเข้ากล้วยหอมทอง ลดภาษีน้ำตาลทราย ดึงยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์ พลังงานสะอาด ลงทุนในไทยและในพื้นที่ EEC แย้มสับปะรดห้วยมุ่น ได้ลุ้นจด GI ในญี่ปุ่น ส.ค.นี้

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือกับนายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2567 ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่า ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า และยกระดับการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านต่อไป เพื่อขับเคลื่อนการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในฐานะที่ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและยาวนาน

ทั้งนี้ ไทยได้เน้นย้ำการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA ที่มีอยู่ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยภายใต้ความตกลง JTEPA เช่น กล้วยหอมทองไปตลาดญี่ปุ่น โดยปีนี้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเกษตรกรไทยทำสัญญาซื้อขายกับผู้นำเข้าญี่ปุ่นเพื่อเตรียมส่งออกกล้วยหอมทองไปตลาดญี่ปุ่นแล้ว จำนวน 5,000 ตัน

และจะเพิ่มปริมาณการส่งออกอีกในปีต่อๆ ไป และยังได้ขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนสินค้าน้ำตาลทรายที่ปัจจุบันญี่ปุ่นยังเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูง โดยขอให้ญี่ปุ่นพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ระดับเทคนิคหารือกัน เพื่อนำไปสู่การลดภาษีต่อไป

สำหรับ ด้านการลงทุน เห็นว่า ญี่ปุ่นกับไทยถือเป็นพันธมิตรสำคัญในห่วงโซ่อุตสาหกรรมมาโดยตลอด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยกว่า 60 ปี ซึ่งได้เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติมในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์

ทั้งที่เป็นยานยนต์สันดาปและยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ให้กับญี่ปุ่นต่อไป และยังได้เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในพื้นที่ EEC สำหรับอุตสาหกรรมชั้นนำอื่น ๆ ที่ญี่ปุ่นมีศักยภาพ อาทิ เครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์ และพลังงานสะอาด อีกด้วย

         ส่วนความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นที่น่ายินดีที่ญี่ปุ่นได้รับจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้กับสินค้าของไทยแล้ว 2 รายการ คือ กาแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุง ซึ่งได้รับแจ้งว่าสับปะรดห้วยมุ่น จะเป็นสินค้าGI รายการต่อไปที่คาดว่าจะได้รับการจดทะเบียนในเดือน ส.ค.2567 และทั้งสองฝ่ายยังพร้อมที่จะขยายความร่วมมือในการคุ้มครองสินค้า GI ของทั้ง 2 ประเทศต่อไปในอนาคต

         นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แสดงความยินดีที่ประเทศหุ้นส่วนกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF ได้ร่วมสรุปความตกลงในเสาที่ 2 เรื่องห่วงโซ่อุปทาน เสาที่ 3 เรื่องเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเสาที่ 4 เรื่องเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ซึ่งไทยกับญี่ปุ่นพร้อมร่วมผลักดันในการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในเสาที่ 1 เรื่องการค้า ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วต่อไป โดยญี่ปุ่นพร้อมที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้กรอบ IPEF ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาค

         ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย โดยในช่วง 4 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่าการค้ารวม 17,110.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 7,566.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้ามูลค่า 9,544.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากญี่ปุ่น ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

 

Click Donate Support Web 

SME 720x100 66

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!