หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov ภูมิธรรม01


รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนเมษายนและ 4 เดือนแรกของปี 2567

          คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนเมษายนและ 4 เดือนแรกของปี 2567 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ 

          สาระสำคัญและข้อเท็จจริง

          1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนเมษายน 2567 

          การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2567 มีมูลค่า 23,278.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (834,018 ล้านบาท) ขยายตัวที่ร้อยละ 6.8 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 11.4 การส่งออกของไทยพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัวที่ดีจากอัตราเงินเฟ้อของโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการผลิตทั่วโลก โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง แต่อานิสงส์ด้านราคาส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 3.7

          มูลค่าการค้ารวม

          มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนเมษายน 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 48,198.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 23,278.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.8 การนำเข้า มีมูลค่า 24,920.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.3 ดุลการค้า ขาดดุล 1,641.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการค้ารวม มีมูลค่า 194,664.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว ร้อยละ 3.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออก มีมูลค่า 94,273.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.4 การนำเข้า มีมูลค่า 100,390.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.9 ดุลการค้า 4 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,116.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

          มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนเมษายน 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 1,737,212 ล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 13.5 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 834,018 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12.7 การนำเข้า มีมูลค่า 903,194 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.2 ดุลการค้า ขาดดุล 69,176 ล้านบาท ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการค้ารวม มีมูลค่า 6,933,245 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออก มีมูลค่า 3,338,028 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.2 การนำเข้า มีมูลค่า 3,595,217 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.7 ดุลการค้า 4 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 257,190 ล้านบาท

          การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

          มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.0 โดยสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ 3.8 ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 12.7 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 91.5 (ขยายตัวในตลาดอิรัก อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ สหรัฐฯ และจีน) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 36.2 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเวียดนาม) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 14.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา ลิเบีย และอิสราเอล) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 52.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย และอิตาลี) ไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 17.2 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ ไอร์แลนด์ และเยอรมนี) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 10.5 (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ลาว และมาเลเซีย) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 21.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และลาว) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 23.2 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเนเธอร์แลนด์) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 29.8 (หดตัวในตลาดจีน ฮ่องกง สหรัฐฯ มาเลเซีย และเวียดนาม) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 9.6 (หดตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ บังกลาเทศ แอฟริกาใต้ และรัสเซีย) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 9.1 (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เมียนมา และฟิลิปปินส์) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 4.7 (หดตัวในตลาดอินเดีย เวียดนาม เกาหลีใต้ กัมพูชา และฟิลิปปินส์) ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว ร้อยละ 0.8

          การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

          มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.2 มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 20.4 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย และอินโดนีเซีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 62.0 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 58.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เยอรมนี อินเดีย และฮ่องกง) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 12.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม ออสเตรเลีย เยอรมนี และอินเดีย) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 23.3 (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ สหรัฐฯ อินโดนีเซีย แคนาดา และเกาหลีใต้) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 32.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก ไต้หวัน และมาเลเซีย) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 5.7 (หดตัวในตลาดเวียดนาม กัมพูชา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเมียนมา) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 9.2 (หดตัวในตลาดสิงคโปร์ จีน ไต้หวัน สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัว ร้อยละ 15.9 (หดตัวในตลาดฮ่องกง เวียดนาม จีน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 1.8

          ตลาดส่งออกสำคัญ

          ตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อน สอดคล้องกับสัญญาณการขยายตัวของภาคการผลิตโลก อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดจีน และญี่ปุ่นยังคงหดตัว ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 6.7 โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 26.1 และ CLMV ร้อยละ 5.1 กลับมาขยายตัวในตลาดอาเซียน (5) ร้อยละ 3.7 และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 20.2 แต่หดตัวต่อเนื่องในตลาดจีน ร้อยละ 7.8 และญี่ปุ่น ร้อยละ 4.1 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 14.4 โดยตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 18.6 และกลับมาขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 13.0 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 17.8 แอฟริกา ร้อยละ 32.1 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 41.9 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 8.6 ขณะที่สหราชอาณาจักร หดตัวร้อยละ 33.7 (3) ตลาดอื่นๆ หดตัวร้อยละ 68.5 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัวร้อยละ 79.3 

          2. มาตรการส่งเสริมการส่งออกและแนวโน้มการส่งออกระยะต่อไป

          การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานที่สำคัญในเดือนเมษายน อาทิ (1) การส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร การบรรลุข้อตกลงขายข้าวล็อตแรก ในรูปแบบรัฐต่อรัฐกับอินโดนีเซีย ปริมาณ 55,000 ตัน โดยเริ่มส่งมอบตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป ตามนโยบาย “รักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ในการส่งออกไปต่างประเทศ” นอกจากนี้มีการผลักดันให้ผู้ส่งออกกล้วยหอมทองจากจังหวัดนครราชสีมา ใช้สิทธิ์ตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ให้มากขึ้น มีเป้าหมายการส่งออกจำนวน 120 ตันต่อเดือน และมีแผนที่จะส่งออกให้ได้ถึง 8,000 ตันต่อปี ในอนาคต (2) การเจรจาความตกลงเพื่อเปิดตลาดสินค้าใหม่ ไทย-บังกลาเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ทั้งสองประเทศร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงเริ่มการเจรจา FTA ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยบังกลาเทศสนใจจะนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากไทยเพื่อความมั่นคงทางอาหาร อาทิ น้ำตาลทราย น้ำมันพืช และถั่วต่างๆ และ (3) การอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคการส่งออกผลไม้ไปจีน การหารือกับผู้ว่าการมณฑลยูนนาน เพื่อขอให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่าน 3 เส้นทาง คือ ทางรถ ทางราง และทางเรือ ในช่วงฤดูการส่งออกผลไม้ของไทย 

          แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังสามารถเติบโตได้ดีจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เติบโตตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และปัญหาเงินเฟ้อที่เริ่มบรรเทาลง ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในหลายประเทศ ขณะที่สภาพอากาศแปรปรวนสร้างแรงผลักดันต่อราคาสินค้าเกษตรและความต้องการนำเข้าเพื่อความมั่นคงทางอาหาร แต่กดดันปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มขยายวงกว้าง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และจะทำงานร่วมกับทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศเพื่อแสวงหาแนวทางสร้างโอกาสและลดอุปสรรคในการส่งออกต่อไป

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (รองนายกรัฐมนตรี) 18 มิถุนายน 2567

 

 

6563

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!